ฝึกเลือกกองทุน+จัดพอร์ตกองทุนได้ด้วยตัวเอง ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ใน 5 Steps

Piyasak D.
2 min readSep 3, 2021

ในฐานะที่ทำงานเป็นผู้จัดการกองทุน ผมมักจะถูกถามจากเพื่อนๆ บ่อยครั้งด้วยคำถามใหญ่ ๆ 3 เรื่อง คือ

1. “กำลังจะเริ่มซื้อกองทุน แนะนำกองทุนไหน?” — อันนี้มักจะเป็นคนที่เริ่มสนใจ แต่ยัง No idea ใด ๆ เรื่องกองทุน
2. “ช่วงนี้ลงทุนอะไรดี?” — อันนี้มักจะมาจากคนที่มีลงทุนเองอยู่บ้างแล้ว แต่อาจจะตามบ้างไม่ตามบ้าง ช่วงไหนนึกได้ก็จะสนใจขึ้นมา
3. “ตลาดแบบนี้ปรับพอร์ตยังไงดี?” — อันนี้มักจะมาตอนตลาดส่ออาการไม่ค่อยดี หรือไม่ก็เจ็บแล้วค่อยมาขอคำแนะนำ

สังเกตว่า ปัญหาจากในคำถามจะมี 2 จุดใหญ่ ๆ คือ
ตอนเริ่มต้น — จะเลือกกองทุนยังไงดี ไม่รู้อะไรเลย
ตอนปรับพอร์ตการลงทุน — ลงทุนไปซักพัก เริ่มไม่แน่ใจว่าจะเพิ่มจะลดกองทุนที่ถือยังไงดี

ซึ่งคำตอบที่ผมให้กับเพื่อนๆ ไป มันเหมือนจะจบ แต่ก็ไม่ เพราะสุดท้ายเพื่อนๆ ยังคงเจอปัญหาแบบเดิม ผมเลยพยายามนึกว่ามันจะมี Tools อะไรที่ช่วยให้สามารถเรียนรู้ process การเลือก/การปรับพอร์ตได้แบบสะดวกและไม่ต้องใช้ความพยายามมากจนล้มเลิกไปก่อน

ซึ่ง Tools ที่ผมนึกออก คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund — PVD)

ทำไมต้อง PVD?

เพราะ PVD เป็นกองทุนที่ใกล้ตัวมนุษย์เงินเดือนอย่างเราที่สุดแล้ว เราลงทุนในกองทุน ที่ชื่อว่า PVD กันทุกเดือนแบบภาคบังคับผ่านการถูกหักเงินเดือน แต่หลายคนไม่ได้ใส่ใจเงินก้อนนี้กันเท่าที่ควร บางคนแทบจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า เลือกลงทุนนโยบายไหนไป ! บางอาจจะหนักกว่านั้นว่า “อ้าว เราต้องเลือกนโยบายเองด้วยเหรอ !?” นอกจากนี้นโยบายการลงทุนของ PVD นั้น ค่า Default มักจะเป็นแบบ Bundle เป็นแพ็คเกจมาให้ในระดับหนึ่งแล้ว เรียกว่ามีความ Ready-to-use พอสมควร ไม่ต้องวุ่นวายคิดเองเยอะ

ดังนั้น ผมเลยคิดว่าการเริ่มหัดลงทุนในกองทุนนั้น เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวอย่าง PVD นี่แหละ น่าจะง่ายสุดแล้ว

ข้อดีของการเริ่มเลือกกองทุนและจัดพอร์ตการลงทุนกับ PVD คือ
1. ปัจจุบันนี้ PVD ที่บริษัทมีให้พนักงานมักจะอยู่ในรูป Employee’s choice แล้ว ไม่ได้ถูกบังคับให้อยู่แค่แบบเดียว : PVD ปัจจุบันนี้มีนโยบายให้เลือกได้หลากหลาย เช่น Option 1 ตราสารหนี้ 100% Option 2 หุ้น 100% Option 3 นโยบายผสมหุ้น/ตราสารหนี้ 60/40 หรือ 75/25 เป็นต้น เผลอๆ บางที่อาจจะยืดหยุ่นได้ถึงขนาดให้เราเลือกเองเลยว่าจะลงทุนในกองทุนอะไรบ้าง และกำหนดสัดส่วนการลงทุนแต่ละกองเองเลย

2. ความหลากหลายของแนวทางลงทุนที่เยอะขึ้นไม่แพ้กองทุนรวมทั่วๆ ไป : แต่ก่อนนั้นเราจะมีทางเลือกแค่หุ้นและตราสารหนี้ อย่างมากก็มีเพิ่มทองคำมาด้วยแค่นั้น แต่ปัจจุบันนี้ PVD มีทางเลือกหลากหลายขึ้น
- แบ่งตามสินทรัพย์ : หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ REIT น้ำมัน เป็นต้น (คริปโตไม่มีจ้า)
- แบ่งตาม Geography : ในประเทศ/ต่างประเทศ, US, China, EU, Asia Pac, EMEA เป็นต้น
- แบ่งตาม Thematic: Healthcare, AI Robotics, Innovation, Growth, Millennials และอื่นๆ อีกมากมาย
- ที่น่าสนใจอีกแบบ คือ นโยบายสมดุลตามช่วงอายุ หรือ Target Date ซึ่งจริงๆ มันก็คือนโยบายผสมแหละ เพียงแต่สัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์จะถูกกำหนดแบบ Automatic Investment Plan ตามให้เหมาะสมตามช่วงอายุของตัวบุคคลนั่นเอง

3. เราไม่ต้องมานั่งควานหากองทุนด้วยตัวเองแบบที่ต้องทำกับกองทุนทั่วไป: เพราะทางบลจ.ที่บริหาร PVD จะมี Short-list กองทุนสำหรับให้ลงทุนไว้แล้ว แปลว่าสโคปกองทุนที่ให้เราเลือกถูกกรองมาแล้ว ช่วยประหยัดเวลาเรา ให้เราเอาเวลาไปศึกษากองทุนในประเภทที่สนใจได้เลย สงสัยอะไรก็สอบถามกับทางบลจ. โดยตรงได้ด้วย

4. ธรรมชาติของ PVD ฝึกให้เราต้องลงทุนยาวๆ และอดทนต่อความผันผวนจากการลงทุน: ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเป็น Core Philosophy ของการลงทุนที่ทุกคนคุ้นเคยกันอย่างดี แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็ทำกันไม่ค่อยได้ ดังนั้นด้วยธรรมชาติของตัว PVD นี้เอง จึงเป็นการฝึกให้เราได้คอยติดตามพอร์ตการลงทุนและหัดปรับพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ

พูดถึงข้อดีแล้ว ในแง่ข้อจำกัดหลักๆ ของ PVD ก็มี 2 เรื่อง
1. บางบริษัทไม่ได้มีนโยบาย PVD ที่หลากหลายให้เลือก

2. บางบริษัทไม่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดสัดส่วนการลงทุนและความถี่ในการเปิดให้ปรับพอร์ต : เรื่องนี้เป็นปัญหาพอสมควรโดยเฉพาะเรื่องความถี่ในการปรับพอร์ต เพราะบางที่เปิดโอกาสให้ Rebalance พอร์ตแค่ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากแบบทุกวันนี้ ทำให้ค่าเสียโอกาสจะสูงมาก ไม่เหมือนกองทุนรวมที่เราซื้อขายปรับพอร์ตได้ทุกวัน

เกริ่นมายาวเลย ถ้าคิดว่าไอเดียนี้น่าสนใจ ก็ตามมาดูเนื้อหากันต่อครับว่าแนวทางการหัดเลือกกองทุน/ปรับพอร์ตด้วย PVD นั้นทำอย่างไร

Step 1 : รู้จักพอร์ตตัวเอง — รู้ก่อนว่าปัจจุบันตัวเองเลือก PVD นโยบายแบบไหนอยู่ เพื่อจะได้รู้ว่าเรา Start จากอะไร จะไปต่อ (กับนโยบายเดิม) หรือจะพอแค่นี้ (แล้วเลือกนโยบายใหม่)

Step 2 : รู้จักกองทุนที่เหมาะกับตัวเอง — ปัญหาคลาสสิคเรื่องที่ไม่รู้ว่ากองทุน/นโยบายไหนดี? กองทุน/นโยบายแต่ละอันแตกต่างกันยังไง? กองทุน/นโยบายไหนเหมาะเรากับ? และ “มันให้ Returns ดีมั้ย?” วิธีหาคำตอบที่ดีที่สุด คือ ไปขอผลตอบแทนย้อนหลังแต่ละนโยบายจากบลจ.ที่บริหาร PVD ให้บริษัทเรามาเลย ยิ่งได้ย้อนหลังไกลแค่ไหนยิ่งดี เพราะเราจะได้เห็นความแตกต่างชัดเจนว่า “พฤติกรรมของผลตอบแทน” ที่ได้จากนโยบายที่เป็นตราสารหนี้ 100% เทียบกับนโยบายที่เป็นหุ้น 100% และนโยบายผสมหุ้น/ตราสารหนี้ ความสวิงของผลตอบแทนมันแตกต่างกันขนาดไหน เวลาเป็นบวกมันเยอะแค่ไหน เวลาติดลบมันลงลึกขนาดไหน และเราจะเริ่มเห็นว่าในระยะยาวๆ ผลตอบแทนที่คาดว่าน่าจะได้ควรอยู่ในกรอบประมาณเท่าไร และยังช่วยให้เรารู้จักพฤติกรรมของสินทรัพย์ที่เราจะลงทุนผ่านแนวโน้มของผลตอบแทนในอดีต เช่น ไอ้หุ้นที่เค้าบอกเสี่ยงสูง มันสูงยังไง? แล้วตราสารหนี้ที่มันเสถียรกว่าแล้วให้ผลตอบแทนในระดับที่เราพอใจมั้ย? แล้วถ้ามันผสมกันล่ะ หน้าตาผลตอบแทนมันเป็นยังไง? ถ้าเพิ่มสินทรัพย์อื่นอย่างทองคำ/REIT ด้วยล่ะ จะเป็นยังไง? เป็นต้น แล้วเราจะเริ่มพอเห็นเองว่าเราน่าจะเหมาะกับการลงทุนสินทรัพย์แบบไหน นโยบายไหน เรารับความเสี่ยงได้ขนาดไหน

Step 3 : เจาะรายละเอียดกองทุนที่สนใจ : พอเรารู้แล้วว่านโยบายไหนที่เราสนใจและน่าจะเลือก ก็ค่อยไปเอาเอกสารของนโยบายนั้นๆ มาอ่านดูว่ามันลงทุนอะไรยังไงบ้าง เช่น นโยบายแบบผสมหุ้น/ตราสารหนี้ ก็ไล่ๆ ดูว่าลงหุ้นกี่% ลงในหุ้น Sector ไหนบ้าง ลงตราสารหนี้กี่% ลงเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลหรือลงในหุ้นกู้เอกชนด้วย มีไปลงทุนต่างประเทศด้วยมั้ย เป็นต้น และถ้าสงสัยเรื่องไหน หรือขี้เกียจอ่าน หรือมีคำถามเรื่องการปรับกลยุทธ์ของนโยบาย หรืออยากรู้มุมมองของผู้จัดการกองทุน ก็สามารถไปสอบถามกับทางบลจ.โดยตรงได้เลย

ขั้นตอนนี้จะช่วยให้เราเข้าใจในสินทรัพย์/นโยบายที่เรากำลังจะลงทุนมากขึ้นกว่าเดิมว่ามันใช่สิ่งที่เราคิดหรือคาดหวังไว้แต่แรกหรือไม่ เป็นการทำการบ้านด้วยตัวเองแบบไม่ต้องออกแรงอะไรมาก และมีคนจากบลจ.พร้อมให้คำตอบเราด้วย ถึงตรงนี้เราจะรู้แล้วว่าเราควรจะจัดพอร์ตด้วยกลยุทธ์อะไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีอันเดียว เราสามารถมีกลยุทธ์ในใจได้หลายอัน เพื่อที่ว่าถ้ากลยุทธ์ที่เราเลือกอันแรกสุดมันไม่เวิร์ค ก็จะได้มีกลยุทธ์สำรองอื่นๆ ไว้สำหรับปรับพอร์ตรอบต่อๆ ไปได้

Step 4 : เลือกกองทุน เลือกกลยุทธ์ — ตัดสินใจเลือกกองทุน/นโยบาย ซึ่งมันคือกลยุทธ์จัดพอร์ตของเราที่เลือกไว้นั่นเอง ซึ่งมันจะสะท้อนว่าเราอยากให้หน้าตาพอร์ตการลงทุนของเราไปในทิศทางไหน เน้นผลตอบแทนสูง หรือ เน้นผลตอบแทนไม่ค่อยสวิง (ถ้าเราสามารถปรับพอร์ตได้เลยก็ปรับดู แต่ถ้ามีรอบกำหนดการปรับพอร์ตและยังไม่ถึงรอบก็ต้อรอไปก่อน)

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นที่เราได้ศึกษาเองมาแล้ว และตัดสินใจเองบนความเข้าใจของเราจริงๆ ซึ่งก็จะพบว่านี่ไง เราก็ศึกษาและจัดพอร์ตการลงทุนเองได้อยู่นะ อาจจะไม่ได้รู้ลึกซึ้งมาก แต่อย่างน้อยเราก็รู้เยอะขึ้นกว่าเดิมแน่นอน ! ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลงทุนในกองทุนแล้ว !

Step 5 : ติดตามผล+ปรับพอร์ต: ปกติแล้วเรามักจะได้อัพเดทผลการลงทุนใน PVD เป็นระยะๆ อยู่แล้ว เราก็คอยดูว่าผลการลงทุนที่เราตัดสินใจเลือกเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นไปได้อย่างมากที่เราจะรู้สึกไม่พอใจ 55555555 ซึ่งไม่แปลก ไม่ต้องเซ็ง ไม่ต้องท้อ ถ้ามันไม่เวิคเราก็แค่ปรับพอร์ตใหม่ด้วยการย้อนกลับไปเริ่มที่ Step 1 ใหม่วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ เป็นการฝึก+เก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งบางคนก็คงถามว่า แล้วจะปรับพอร์ตยังไง? ตรงนี้เราอาจจะต้องทำการบ้านเยอะขึ้นด้วยการเริ่มอ่านข่าวมากขึ้น อ่านบทวิเคราะห์ที่ได้จากบลจ. อ่านบทความเยอะขึ้น จะได้เรียนรู้ว่าเราควรปรับพอร์ตแบบไหน ตามธีมการลงทุนเด่นๆ ช่วงนั้นดีมั้ย หรือจะตาม Mega trend ระยะยาว หรือจะใช้กลยุทธ์แบบ Core and Satellite ดี ซึ่งมันเป็น Journey ในการลงทุนของแต่ละคนที่จะหาแนวทางที่ถนัดต่อไป

เมื่อเราทำ 5 Step นี้จนชินและคล่องแล้ว เราจะมีพื้นฐานในการเลือกกองทุนและจัดพอร์ตแล้ว ต่อไปเราก็สามารถขยับมาลองกับกองทุนทั่วไปด้วยตัวเองก็ได้เช่นกัน เพราะแนวทางก็ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่อาจจะต้องทำการบ้านเยอะกว่าและหาข้อมูลเองเยอะกว่า แต่ก็มีความอิสระในการเลือกและปรับพอร์ตมากกว่าเช่นกัน ซึ่งก็คงไม่น่าจะยากเกินไปแล้วแหละครับ

Disclaimer : เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและนำไปปรับใช้นะครับ

--

--

Piyasak D.

Full-time: Portfolio Manager, Part-time: Book Reader and Translater